วันศุกร์

ประมวลภาพ "จิตศึกษา" โรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย













































จิตศึกษากับการพัฒนาปัญญาภายในโรงเรียน

จิตศึกษากับการพัฒนาปัญญาภายในของโรงเรียน

                                                                                                                  กัมพล เจริญรักษ์*
บทนำ
  เป้าหมายที่แท้ของการศึกษา  คือ การเปลี่ยนผู้เรียนจากผู้ไม่รู้สู่ผู้รู้และผู้เป็น  ที่เห็นได้จากการมีวิธีคิด  จิตสำนึกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อตอนที่ยังไม่รู้และเกิดพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า การศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นสร้างผู้เรียนให้เป็นเพียงผู้จำ  ล้วนเป็นเพียงการจำเพื่อไปสอบ   สร้างให้ผู้เรียนมีสภาพเป็นตำราที่เดินได้  โดยไม่ได้นำเอากระบวนการ   “การเปลี่ยนคน  สร้างสรรค์สังคม”  มาเป็นเป้าหมายสำคัญของการศึกษา  คำถามที่เกิดตามมา คือ หากการศึกษาที่เป็นอยู่พาเราไปสู่ทางออกของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ไม่ได้   หนำซ้ำกลับยิ่งสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะวิถีของการศึกษาในยุคปัจจุบันเป็นการศึกษาที่สร้างให้คิดแบบแยกส่วน  หล่อหลอมให้คนมีจิตสำนึกการแข่งขัน   และยึดเอาตนเอง หรือหมู่พวกของตนเป็นศูนย์กลาง
              สารพันปัญหาที่มีดีกรีความรุนแรงระดับโลกที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เช่น ภาวะโลกร้อน  วิกฤติแฮมเบอร์ ส่วนปัญหาความแตกต่างทางความคิดทางด้านการเมืองจนกลายเป็นความแตกแยกก็เป็นปัญหาที่พบได้ทั้งในระดับประเทศ และในระดับบุคคล ก็ยังพบว่าคนในยุคนี้ ทุกข์ง่าย สุขยากทั้งนี้ล้วนเกิดขึ้นมาจากการที่ปัจเจกบุคคลขาดสำนึกที่ดีและขาดซึ่งความตระหนักถึงภาวะหน้าที่ของตนที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสิ่งในธรรมชาติ   พอกล่าวถึงสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และโจทย์การศึกษาแบบไทย  ไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียนได้ตามการเปลี่ยนแปลง คงมีคำถามตามมาว่า  “จะทำอย่างไร”  และ “มีวิธีการอย่างไร”  กระบวนการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเน้นให้ผู้เรียนอยู่กับความจริงสูงสุด  ที่เมื่อเข้าถึงแล้วจะก่อเกิดอิสรภาพความสุข  ความรักเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ  อันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างศานติ  การศึกษาเช่นนี้จึงเป็นการศึกษาที่ต้องพัฒนามนุษย์อย่างเป็นองค์รวม  เป็นการพัฒนาปัญญาภายใน  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง   และส่งผลต่อชีวิตด้านในของผู้เรียนจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงผ่าน  จิตศึกษา  คือการพัฒนาปัญญาภายใน  เป็นอีกหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ที่นำผู้เรียนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะพิเศษ  คือมุ่งไปที่การพัฒนาชีวิตโดยการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก  จากรากฐานของการปฏิบัติฝึกฝนจริงการสร้างความเป็นชุมชนและวิถีชุมชน การใช้จิตวิทยาเชิงบวกและผ่านกิจกรรมจิตศึกษา 

จิตศึกษากับการพัฒนาปัญญาภายใน
* ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย  สพป.ศรีสะเกษ เขต 4
 
              จิตศึกษา  คือการพัฒนาปัญญาภายในหรือความฉลาดด้านใน  หมายรวมถึงความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ (Spiritual Quotient  : SQ) และความฉลาดทางด้านอารมณ์  (Emotional Quotient  :  EQ)  ซึ่งได้แก่ การรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง (รู้ตัว) และผู้อื่น การเห็นคุณค่าในตัวเอง คนอื่น และสิ่งต่างๆ เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีความหมาย การอยู่ด้วยกันอย่างภารดรภาพ ยอมรับในความแตกต่าง เคารพและให้เกียรติกัน การมีวินัย มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวมอยู่อย่างพอดีและพอใจได้ง่าย  การมีสติอยู่เสมอ รู้เท่าทันอารมณ์เพื่อให้รู้ว่าต้องหยุด หรือไปต่อกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ มีความคิดสามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้  การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่างๆ นอบน้อมต่อสรรพสิ่งที่เกื้อกูลกันอยู่ และการมีจิตใหญ่มีความรักความเมตตามหาศาล  (วิเชียร ไชยบัง.  2554)  สอดคล้องกับ .นพ. ประเวศ วะสี กรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของศูนย์จิตตปัญญาศึกษาได้ให้แนวคิด  เรื่องจิตตปัญญาศึกษา  ไว้ว่า จิตตปัญญาศึกษา คือ การศึกษาที่ทำให้เข้าใจด้านในของตนเอง รู้ตัว เข้าถึงความจริง ทำให้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกและผู้อื่น เกิดความเป็นอิสระ ความสุข ปัญญา และความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง หรืออีกนัยหนึ่ง เกิดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยเน้นการศึกษาจากการปฏิบัติ เช่น การทำงานศิลปะ โยคะ ความเป็นชุมชน การเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม สุนทรียสนทนา การเรียนรู้จากธรรมชาติ และจิตตภาวนา  เป็นต้น  และสอดคล้องกับแนวคิดของ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์  (2555)  กล่าวว่า  จิตตปัญญา  เป็นส่วนสำคัญของความสุขที่ยั่งยืนเพราะคุณสมบัติที่สำคัญก็คือความสามารถในการปล่อยวางเนื่องจากเข้าใจถึงธรรมชาติของจิตของเราและสิ่งต่างๆ รอบตัวเราว่าเป็นสิ่งที่แปรเปลี่ยนไป จึงไม่ต้องยึดติดในความเป็นตัวเราของเรา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความทุกข์ จิตตปัญญาจึงเป็นความสุขในระดับสูง  เรื่องของความสุขของบุคคลจากการพัฒนาจิตจนเกิดจิตตปัญญานั้นได้มีการศึกษาวิจัยอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสมอง โดยส่วนใหญ่ของวิธีการพัฒนาจิต ก็ดัดแปลงมาจากศาสตร์ทางตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกสมาธิและการฝึกสติในพุทธธรรม
              โรงเรียนที่จัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้มีการนำกระบวนการ “จิตศึกษา”  มาพัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งที่จะพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้เต็มตามศักยภาพ  และให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน โดยไม่ปล่อยให้ผู้เรียนล้มเหลวแม้แต่คนเดียว  ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์  ตั้งแต่ปีการศึกษา  2546  เพื่อให้เป็นแนวคิดและกระบวนการพัฒนาทั้งครูและเด็กให้เกิดการเรียนรู้และงอกงามด้านความฉลาดทางด้านอารมณ์และความฉลาดด้านจิตวิญญาณ เริ่มต้นในปีแรกๆ กระบวนการจิตศึกษาในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมเด็กให้สงบ  ผ่อนคลายและให้กลับมารู้เนื้อรู้ตัวก่อนเข้าเรียนในทุกวัน  หลักจากการดำเนินกระบวนการจิตศึกษาได้หนึ่งปี  พบว่าเด็กทุกคนสงบได้ง่ายขึ้น  จิตใจที่สงบก็จะนำมาซึ่งการรับฟังกันได้อย่างลึกซึ้ง  เกิดการใคร่ครวญ  สามารถรับรู้และเชื่อมโยงกับคนอื่นหรือสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น  หลังจากนั้นโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  จึงได้พัฒนากระบวนการและกิจกรรมขึ้นมาเป็นลำดับ  จนปัจจุบันได้พบว่าเมื่อครูใช้กระบวนการ       จิตศึกษาเพื่อขัดเกลาเด็ก ในขณะเดียวกันนั้น  ครูก็ได้ขัดเกลาความฉลาดด้านในของตัวเองไปด้วย     “จิตศึกษา” จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของโรงเรียนในการพัฒนาครู เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของครูให้มี  “หัวใจของความเป็นครู” อย่างแท้จริง ส่วนในตัวเด็กกระบวนการจิตศึกษาได้ยกระดับความฉลาดด้านจิตวิญญาณ  และความฉลาดด้านอารมณ์ ให้เห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง การน้อมนำสิ่งที่ดีงามเข้าไปสู่    จิตใต้สำนึกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมของนักเรียนให้อยู่ในภาวะคลื่นสมองต่ำเพื่อให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้  (วิเชียร ไชยบัง.  2555)

กระบวนทัศน์ของจิตศึกษากับการพัฒนาโรงเรียน
              โรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย  อำเภอกันทรลักษ์  จังหวัดศรีสะเกษ  ได้นำคณะครูไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  ทั้งนี้ผู้บริหารและคณะครู  ได้เข้ารับการอบรมพัฒนาเกี่ยวกับกระบวนการ  “จิตศึกษา” ในปลายปีการศึกษา 2555  ซึ่งทางโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย  ได้นำแนวคิดและกระบวนการพัฒนาทั้งครูและเด็กให้เกิดการเรียนรู้และงอกงามด้านความฉลาดทางด้านอารมณ์และความฉลาดด้านจิตวิญญาณ  โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า “จิตศึกษา”  มาประยุกต์ใช้ที่โรงเรียนในภาคเรียนที่  1 ปีการศึกษา 2556  จนถึงปัจจุบัน  ซึ่งใช้กระบวนทัศน์ของจิตศึกษา 3 ประการ  ดังนี้
                   1. การสร้างความเป็นชุมชนและวิถีชุมชน
                   2. การใช้จิตวิทยาเชิงบวก
                   3. การจัดกระทำผ่านกิจกรรมจิตศึกษา
              การสร้างความเป็นชุมชนและวิถีชุมชน
                   การสร้างความเป็นชุมชนและวิถีชุมชน  เริ่มตั้งแต่การจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน มีครูที่เป็นกัลยาณมิตรที่คอยเกื้อหนุนให้คำแนะนำและให้ความรักความเมตตาเสมอ ความรู้สึกปลอดภัยของเด็ก  มีแรงจูงใจเชิงบวก  โรงเรียนเริ่มสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี มีการปฏิบัติในวิถีโรงเรียน จะต้องทำอย่างมีความหมาย มีเหตุผลและคงเส้นคงวา ในขณะเดียวกันโรงเรียนยังต้องตระหนักอยู่เสมอว่าผู้ปกครองนักเรียนทุกคนมีส่วนเกื้อกูลต่อความก้าวหน้าของเด็ก การสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการอย่างหลากหลาย จะช่วยให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาในเชิงจิตวิญญาณซึ่งเป็นสิ่งนามธรรม  ในที่สุดผู้ปกครองจะเข้ามามากขึ้น  พร้อมที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโรงเรียน เมื่อผู้ปกครองได้เรียนรู้วิถีชุมชนโรงเรียนจากบทเรียนที่เกิดขึ้นจริงภายในโรงเรียน ผู้ปกครองก็จะนำกลับไปสู่ชุมชนจริงของตนเอง
                   วิถีเป็นการกระทำซ้ำที่จะช่วยในการบ่มเพาะปัญญาภายใน  ทั้งความมีวินัยและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งเป็นเครื่องมือกำกับตนเองจากด้านใน เมื่อกลายเป็นอุปนิสัยจิตของเด็กจะไม่รู้สึกขัดขืน ในที่สุดโรงเรียนไม่จำเป็นต้องใช้การควบคุมจากภายนอก เช่น กฎหรือข้อตกลงร่วมกันจะน้อยข้อไปเอง ทั้งนี้ครูต้องอยู่ร่วมในวิถีอย่างคงเส้นคงวาเช่นกัน
              กระบวนการ “จิตศึกษา” กับการพัฒนาปัญญาภายในของโรงเรียน จะต้องมีการเสริมพลังอํานาจ  (Empowerment) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเป็นวิถีชุมชน  ต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกัน  โรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรยได้กำหนดมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกวันพฤหัสบดี  ตั้งแต่เวลา 15.15 น. เป็นต้นไปในแต่ละสัปดาห์  ซึ่งกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้เรียกว่า  PLC  หรือ Professional Learning Community  ครูและครูเรียนรู้ไปด้วยกัน  ครูไม่จำเป็นต้องเก่งตั้งแต่แรก  ครูสามารถรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ครูพัฒนาตนเองด้วยการสร้างชุมชนวิชาการ PLC อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น PLC ในกลุ่มสาระวิชาในโรงเรียน ข้ามโรงเรียน ข้ามเขต ข้ามจังหวัด หรือในอินเทอร์เน็ต  สำหรับครู ครูจะเห็นคุณค่าของตนเอง คุณค่าของวิชาชีพครู มีความสุขที่ได้เห็นนักเรียนพัฒนา เข้าถึงสุขภาวะทางจิตวิญญาณ และเข้าถึงจิตวิญญาณความเป็นครู
              การใช้จิตวิทยาเชิงบวก
                   กรอบคิดทางจิตวิทยาเชิงบวก คือ ศรัทธาในความดีงามของมนุษย์และบ่มเพาะผู้เรียนให้มีคุณค่าที่ดีงามซึ่งมีอยู่แล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น  โดยปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน โดยมีหลักอยู่สองประการ คือสิ่งที่ควรลดหรือเลิก และสิ่งที่ควรทำ ดังนี้
              สิ่งที่ควรลดหรือเลิก ได้แก่
                   ลดการเปรียบเทียบ  ครูไม่ควรเปรียบเทียบเด็กๆ ไม่ว่าจะโดยการพูดหรือการกระทำเพราะไม่มีใครอยากถูกเปรียบเทียบว่าตนเองเป็นผู้ที่ด้อยค่ากว่า เด็กทุกคนแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างเป็นธรรมชาติของตัวเองจึงไม่ควรเปรียบเทียบพฤติกรรมที่ต้องแก้ไขควรกระทำต่อเขาโดยตรงโดยไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น
                   ลดการตีค่า การตัดสิน และการชี้โทษ  เด็กทุกคนทำชิ้นงานออกมาตามศักยภาพของตนเองอย่างไม่เสแสร้ง  งานที่ออกมาจะบอกถึงสิ่งที่เด็กรู้  สิ่งที่เข้าใจหรือความสามารถของเด็ก ครูมีหน้าที่ต้องรู้ว่ายังเหลือส่วนใดบ้างที่เด็กแต่ละคนยังไม่เข้าใจ หรือยังไม่มีความสามารถเพื่อจะได้ช่วยยกระดับเรื่องนั้นให้สูงขึ้น คำว่า “ศักยภาพที่สูงขึ้น” ไม่ได้มีขีดจำกัด ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องมีเกณฑ์ใดๆ มาจับในการประเมิน หรือการตัดสิน
                   ลดการสร้างภาพของความกลัวเพื่อการควบคุม  ความกลัวกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนอะมิกดาทำให้เด็กเข้าสู่โหมดปกป้อง หลบหลีกจากสิ่งที่จะทำให้เจ็บปวด สิ่งคุกคาม หรือภัยอันตราย  ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ เพราะทำให้เด็กไม่กล้าเผชิญกับสิ่งนั้น
                   ลดคำพูดด้านลบ  เช่น การปรามาส  การเย้ยหยัน การดุด่า การกดดันคาดคั้น การล้อเลียนถึงปมด้อย การตั้งฉายา ล้วนแต่เป็นคำที่ให้อาหารหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ไม่ดีในจิตให้เติบโต เช่น ความกลัว ความเกลียด ความเศร้าหมอง ความรู้สึกด้อยค่า เป็นต้น
                   เลิกใช้ความรุนแรง  ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของสัตว์ที่แสดงออกมาเพื่อความอยู่รอด แต่มนุษย์ที่มีสมองส่วนหน้าซึ่งวิวัฒนาการมาใหม่กว่าสัตว์ใดๆ เป็นสมองที่เรียนรู้และคอยกำกับเรื่องความดีงาม คุณธรรมจริยธรรมและการแสวงหาสัจจะสูงสุด  ด้วยสมองส่วนนี้มนุษย์จึงมีศักยภาพที่จะหยุดความรุนแรง เราแต่ละคนมีหน้าที่หยุดสัญชาตญาณความรุนแรงและการกดขี่ภายในจิตมนุษย์ด้วยการไม่ส่งต่อพฤติกรรมเหล่านั้นไปยังเด็กๆ หรือคนรุ่นต่อไป



              สิ่งที่ควรทำ ได้แก่
                   การสร้างภาพพจน์ด้านบวกให้กับผู้เรียนทุกคน  โดยการให้ความรัก ให้เกียรติ รับฟังแสดงความชื่นชมเมื่อมีโอกาส สร้างโอกาสให้เด็กได้ทำงานสำเร็จด้วยตัวเองเสมอๆ เพื่อให้เด็กทุกคนรู้สึกได้ว่าตนเองมีคุณค่า ได้รับความรัก และมีความสามารถ
                   การปรับพฤติกรรมเชิงบวก พฤติกรรมด้านลบที่แสดงออกมานั้นอาจสืบเนื่องมาจากการทำงานของสมองส่วนอะมิกดาลา ซึ่งจะแสดงออกอย่างอัตโนมัติเมื่ออยู่ในภาวะกังวล ตระหนกหรือกลัว ทั้งนี้เพื่อปกป้องตนเอง ส่วนพฤติกรรมที่แสดงออกด้วยอารมณ์ทางบวกหรือด้านของความดีงามมาจากการทำงานของสมองส่วนหน้า แต่ด้วยการทำงานของสมองสองส่วนที่เป็นปฏิภาคกัน นั่นคือเมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน สมองส่วนอะมิกดาลาจะไม่ทำงานหรือแบบตรงกันข้าม เราจึงมีโอกาสที่จะฝึกฝนให้สมองส่วนหน้าได้ทำงานเพื่อให้เด็กๆ ได้แสดงออกด้านบวกหรือด้านดีงามมากยิ่งขึ้น โดยเด็กรู้ตัว ให้การเรียนรู้ และให้การฝึกฝน  (วิเชียร ไชยบัง.  2554)
              การจัดกระทำผ่านกิจกรรมจิตศึกษา
                   โรงเรียนได้จัดกระทำผ่านกิจกรรมจิตศึกษา  ในคาบเวลาของ “จิตศึกษา”  ในภาคเช้าของทุกวัน กล่าวคือหลังเข้าแถวเคารพธงชาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยใช้เวลา  08.30 – 08.50 น. ประมาณ 20 นาที  ในภาคเช้าก่อนการจัดกระบวนการเรียนการสอนวิชาอื่นทุกวัน  ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่  6  ตัวอย่างกิจกรรม เช่น 
                   กิจกรรมที่มุ่งเสริมสร้างพลังสงบ  ให้เกิดความสงบภายในและการผ่อนคลาย เช่น ขณะทำกิจกรรมก็เปิดเสียงดนตรีที่มีลักษณะของคลื่นความถี่ต่ำ  เพื่อเหนี่ยวนำคลื่นสมองของเด็กให้มีความถี่ต่ำลง การทำโยคะเพื่อบริหารอวัยวะภายในและเพื่อบริหารลมหายใจ ให้ได้อยู่กับลมหายใจ หรือแม้กระทั่งการนวดตัวเองหรือนวดกันและกันเพื่อส่งความรู้สึกดีต่อกัน  ส่วนการทำบอดีแสกน  (Body Scan) เพื่อการผ่อนคลายแบบลึกและบ่มเพาะสิ่งที่ดีงามในจิตใต้สำนึกนั้นจะใช้เวลาต่างจากกิจกรรมจิตศึกษาอื่น  คือทำกิจกรรมก่อนเข้าเรียนในภาคบ่ายช่วงเวลา 12.55 13.15 (ประมาณ 20 นาที)
                   กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดสติเพื่อให้เด็กได้มีความชำนาญในการกลับมารู้ตัวได้เสมอๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เด็กรู้เท่าทันอารมณ์และการกระทำที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละขณะเพื่อจะได้รู้ว่าควรหยุดหรือดำเนินกิจกรรมนั้นต่อ เช่น การเดินตามรอยเท้า การเดินต่อเท้าตามเส้นตรง Brian Gym เป็นต้น
                   กิจกรรมฝึกสมาธิหรือการจดจ่อ ให้เด็กมีความสามารถในการคงสมาธิได้ยาวขึ้นเพื่อกำกับความเพียรทั้งการเรียนรู้และการทำงานให้สัมฤทธิ์ผล เช่น กิจกรรมส่งน้ำ ส่งเทียน ต่อภาพจากผลยางพารา  การพับกระดาษ การฟังนิทาน หรือเล่าเรื่อง เป็นต้น
                   กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดการเพาะจิตสำนึกที่ดีงาม นิทาน  เรื่องเล่าเพื่อการใคร่ครวญ การใช้คำที่ให้พลังด้านบวก การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น
                   กิจกรรมที่มุ่งบ่มเพาะพลังความรักความเมตตา เช่น การไหว้กันและไหว้สิ่งต่างๆ การกอด การขอบคุณกันและขอบคุณสิ่งต่างๆ การยกย่องชื่นชมความดีงามของคนอื่นๆ  เป็นต้น

ผลสะท้อนกลับจากครูที่ได้ทำ “จิตศึกษา”
              จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูทุกวันพฤหัสบดี (PLC) ครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการมากขึ้น  ครูทุกคนได้ปรับและจูนความคิดกันมากขึ้น  ผู้บริหารมีโอกาสได้แทรกความรู้  เทคนิคกระบวนการสอนเพิ่มขึ้นเมื่อเป็นผู้นำวง PLC   ครูส่วนใหญ่จะเล่าให้ฟังว่า เด็กๆ จะเงียบลงมาก   เริ่มที่จะคิด กล้าแสดงออกมากขึ้น  รู้จักการรอคอยมากขึ้น  คนที่ไม่กล้าพูดจะเริ่มพูด เพราะครูจะตั้งคำถามและให้เด็กคิด  โดยเฉพาะคิดตามจินตนาการ  ไม่มีถูกไม่มีผิด  และเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้พูด  ได้คิดตามความสามารถของเด็กเอง  แรกๆ เด็กอาจจะไม่กล้าพูดทุกคน  บางคนยังลอกคำพูดของเพื่อนอยู่ก็มี  พอเริ่มไปได้ระยะหนึ่งเด็กจะกล้าพูด  กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เด็กเริ่มมีความไว้วางใจครูมากขึ้น  ส่วนตัวของครูเองเกิดความภาคภูมิใจ  และอยากเล่าให้ครูคนอื่นฟังในวง PLC  จากสิ่งที่ตนเองทำแล้วประสบความสำเร็จ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้กระบวนการ “จิตศึกษา” ร่วมกันทุกสัปดาห์ 
              สิ่งที่สังเกตเห็นจากกระบวนการ “จิตศึกษา”  เช่น  นักเรียนแต่ละคนมีความคิดที่แตกต่างและหลากหลาย  รู้จักนักเรียนที่อ่านและเขียนไม่คล่อง  เห็นพัฒนาการทางภาษาที่งดงามของเด็กๆ รู้จักนักเรียนแต่ละคนถึงความคิดและการมองสิ่งๆ ต่างที่ได้รับฟัง  เกิดความสัมพันธ์ระดับราบระหว่างครูและนักเรียน  เกิดบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
              ส่วนข้อเสนอแนะที่ครูให้ไว้  คือ กิจกรรมจิตศึกษาพอทำไปสักระยะหนึ่งถ้าไม่เปลี่ยนกิจกรรม เด็กจะชินและเริ่มเบื่อกิจกรรมนั้น  ครูต้องคิดกิจกรรมที่หลากหลายในหนึ่งสัปดาห์ให้มีความแตกต่างกันมากขึ้น เช่น วันแรกกิจกรรมทำให้สงบ วันที่สองโยคะ วันที่สาม Brian Gym  วันที่สี่เดินกำกับสติ  วันที่ห้าเล่นสนาม BBL (Brain  Based Learning) เป็นต้น

บทสรุป
            “จิตศึกษา”  หรือ “จิตปัญญาศึกษา”  หรือ จิตตปัญญาหรือ จิตสำนึกใหม่  หรือ “การพัฒนาปัญญาภายใน”  จึงเป็นวาทกรรมที่นำให้คนในยุคปัจจุบันหันหน้าเข้าหาสัจธรรม ด้วยวิธีการที่สามารถเชื่อมโยงเอาคุณค่าของโลกวิชาการที่สอนให้คนชำนาญเรื่องการคิดวิเคราะห์ เรื่องนอกตัว ได้กลับเข้ามาหางาน ดูจิต  ซึ่งเป็นเรื่องข้างในตัวได้อย่างกลมกลืน  เพื่อก้าวสู่หนทางแห่งความจริงและชีวิต   ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ และการเปลี่ยนแปลงที่สร้างอิสรภาพ ความสุข ความรักอันไพศาลทั้งกับตน ผู้คนรอบข้าง ตลอดจนองค์กรและสังคมของมนุษยชาติที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติของจักรวาล
              ถ้าให้การเรียนรู้ “จิตศึกษา” เพื่อบ่มเพาะปัญญาภายในให้กับเด็กๆ ตั้งแต่ต้นก็อาจจะช่วยให้เด็กๆ ได้พบคำตอบของการรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง (รู้ตัว) และผู้อื่น การเห็นคุณค่าในตัวเอง คนอื่น และสิ่งต่างๆ เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีความหมาย การอยู่ด้วยกันอย่างภารดรภาพ ยอมรับในความแตกต่าง เคารพและให้เกียรติกัน การมีวินัย มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม อยู่อย่างพอดีและพอใจได้ง่าย  การมีสติอยู่เสมอ รู้เท่าทันอารมณ์เพื่อให้รู้ว่าต้องหยุด หรือไปต่อกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ มีความคิดสามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้  การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่างๆ นอบน้อมต่อสรรพสิ่งที่เกื้อกูลกันอยู่ และการมีจิตใหญ่มีความรักความเมตตามหาศาล แต่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ  มี 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้  นั้นมุ่งสร้างแต่ปัญญาภายนอกเท่านั้น  ปัญญาภายในที่เราทั้งหมดโหยหาทั้งเป็นเครื่องค้ำชูชีวิตกลับกลายเป็นสิ่งขาดแคลนเหลือเกินในภาวะปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

วิจารณ์  พานิช.  (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสดศรี-
              สฤษดิ์วงศ์.
วิเชียร  ไชยบัง. (2554).  จิตศึกษากับการบ่มเพาะปัญญาภายใน. บุรีรัมย์ : สำนักพิมพ์โรงเรียน
              ลำปลายมาศพัฒนา.
___________ . (2555). ปาฏิหาริย์การศึกษา ณ โรงเรียนนอกกะลา. พิมพ์ครั้งที่ 2. บุรีรัมย์ :
              สำนักพิมพ์โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา.
ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์. (2555). การพัฒนาจิตตปัญญาในองค์กร Spirituality Development in
             Organizationพิมพ์ครั้งที่ 2.  นนทบุรี  บริษัท เอ.พี. กราฟิคดีไซน์และการพิมพ์ จำกัด.

วิชาการ.คอม.  จิตตปัญญาศึกษา การศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์. (ออนไลน์) 2552


(อ้างเมื่อ 31 สิงหาคม 2556).  จาก  http://vcharkarn.com/varticle/38633

เรื่องเล่า "เส้นทางการพัฒนาโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย

เรื่องเล่า “เส้นทางการพัฒนาโรงเรียน”
  กัมพล  เจริญรักษ์

ผมได้รับคำสั่งให้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาที่นี้  ในวันที่ 7 ธันวาคม 2553  ได้บริหารจัดการโรงเรียนและผ่านการประเมินต่างๆ มากมาย เช่น สถานศึกษาพอเพียง สมศ.รอบ 3 โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนคุณลักษณะของผู้เรียนยอดเยี่ยม หนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรม        ครูดีเยี่ยม ครูแสนดีเป็นต้น นักเรียนทดสอบระดับชาติมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้นเป็นลำดับทุกปี ในปีการศึกษา 2555 นักเรียนสอบ O-net มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ 4 กลุ่มสาระฯ มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับเขตพื้นที่ 7 กลุ่มสาระฯ จากทั้งหมด 8 กลุ่มสาระฯ นักเรียนได้เหรียญทองการแข่งขันศิลปหัตถกรรมระดับภาค ฯลฯ แต่ผมกลับไม่มีความรู้สึกว่าตนเองดีใจมากนักหรือภูมิใจกับสิ่งที่ดีขึ้น (โรงเรียนพัฒนาขึ้นสำหรับความคิดของคนอื่นหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง) ผมมีความรู้สึกว่าดีใจแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเมื่อได้รับทราบผลที่ผ่านประเมิน ผ่านการรับรอง ได้รับเกียรติบัตร ได้โล่ห์  แต่ความรู้สึกเหล่านั้นกลับหายไปอย่างรวดเร็ว  ผมมองว่าครูสอนแบบเดิม นักเรียนเรียนแบบเดิม ครูจะเป็นผู้บอกความรู้มากกว่าสอนกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน  ผู้เรียนไม่เกิดทักษะ ผู้เรียนไม่รู้ว่าเรียนไปแล้วจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ถ้าผู้บริหารไม่กระตุ้นครูก็เริ่มช้าลง  กระตุ้นมากหน่อยก็ดีขึ้นเป็นวงจร ไม่มีการพัฒนาที่ยั่งยืนและไม่มีการเรียนรู้ร่วมกัน  ไม่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กร ขาดเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาผู้เรียน    ทำให้ผมตั้งคำถามกับตัวเองมากมาย เช่น  “มันเกิดอะไรขึ้นกับโรงเรียนของเรา”  “แล้วเราต้องทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยการกระตุ้นครูทุกครั้งที่เฉื่อยลงรึไง”  “แล้วจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาผู้เรียน พัฒนาโรงเรียนให้ยั่งยืนให้ถึงเป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริง” “ที่เราพยายามทำมาสองปีกว่าๆ เพียงแค่เปลือกนอกของคุณภาพการศึกษาใช่หรือไม่” ซึ่งผมมองว่าที่ดำเนินการอยู่ยังไม่ตอบโจทย์ในการพัฒนาครูและพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ได้พัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน ผู้เรียนไม่เกิดทักษะชีวิต ขาดทักษะการหาความรู้ ขาดทักษะ ICT ฯลฯ
ผมพยายามมองหานวัตกรรมใหม่ๆ  ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากเอกสาร ตำรา งานวิจัย ศึกษาดูงานจากโรงเรียนสถานที่ต่างๆ มากมาย แต่ก็ยังไม่มีทางออกหรือหาแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ที่ชัดเจน พอปลายปี 2555 ได้รับทราบข่าวจากท่าน ผอ.สมศักดิ์ ประสาร เกี่ยวกับโครงการนี้ ผมได้รับข้อมูลแล้วผมไม่รอช้าสักนิด  ได้โทรศัพท์ไปถึงท่าน ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง เพื่อขอเข้าร่วม “โครงการเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน”  ซึ่งหัวหน้าโครงการฯ คือ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์  คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  โรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรยจึงเริ่มต้นเข้าร่วมโครงการฯ นี้ จากความคิดที่อยากเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบเดิมๆ  เป็นรูปแบบใหม่  ซึ่งที่ดำเนินการอยู่เดิมยังไม่ตอบโจทย์ในการพัฒนาครูและพัฒนาผู้เรียนได้เท่าที่ควร พอได้เข้าร่วมโครงการจริงๆ  เป็นโจทย์ใหญ่มากเลยว่าจะทำอย่างไร เพราะก่อนผมมาดำรงตำแหน่งโรงเรียนนี้ ผู้บริหารคนเดิมได้พาครูไปดูโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามาแล้วทุกคน  แต่กลับมาที่โรงเรียนก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น  ผมจึงได้ลองไปสอบถามครู ส่วนใหญ่ก็ปิดกั้นตัวเอง ไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่ บอกว่าเราทำไม่ได้หรอก  ครูเกือบทุกคนกลัว...  กลัวการ “เปลี่ยนแปลง”  นั่นละคือโจทย์ที่ผมจะต้องคบคิด  หาวิธีการว่าจะเริ่มต้นอย่างไร  “ถ้าใจไม่เปิด  ความคิดไม่เปลี่ยน วิธีการย่อมไม่เปลี่ยน”
            ผมและครูได้ร่วมกันเริ่มต้นดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556  โดยนำนวัตกรรมของลำปลายมาศพัฒนา  มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทโรงเรียนของตนเอง  พอเริ่มต้นจริงๆ มีคำถามต่างๆ จากครู  ผู้ปกครองนักเรียนตามมามากมาย เช่น เด็กจะสอบเข้าเรียนต่อได้ไหม  เด็กจะได้อะไรจากการเรียนแบบนี้  เรียนแบบเดิมไม่ดีหรือถึงได้เปลี่ยนแบบใหม่  เป็นต้น ครูและผู้ปกครองเริ่มกลัว และไม่มั่นใจในสิ่งที่จะเริ่มต้นดำเนินการ  มันก็เป็นโจทย์ให้ผมต้องไปคิดเพื่อจะทำความเข้าใจต่ออีก  ถ้าจะไปตอบคำถามทีละคนคงไม่มีวันตอบครบทุกคน หรือครบทุกคำถามแน่นอน  ผมจึงได้พูดคุยกับครู  และร่วมกันวางแผนออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบใหม่นี้  โดยจำลองการจัดการเรียนรู้มาไว้เพียงหนึ่งวัน  และเชิญผู้ปกครองนักเรียนมาเรียนรู้โดยครูเป็นคนพาทำกิจกรรมต่างๆ  เริ่มตั้งแต่เข้าแถวเหมือนนักเรียน ทำกิจกรรมหน้าเสาธง  เข้าห้องเรียนทำจิตศึกษา  จัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ  PBL (Problem Based Learning) ดื่มนม  Body  Scan  รับประทานอาหารเที่ยงเหมือนกับนักเรียนทุกอย่าง  (วันนั้นหยุดนักเรียนแต่ให้ผู้ปกครองนักเรียนทุกคนมาเรียนแทน)  ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำความเข้าใจกับผู้ปกครองนักเรียน สร้างความตระหนักในการเรียนรู้ และสร้างความมั่นใจให้กับครูมากขึ้น  นอกจากนี้ผมยังได้พาคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะครูไปดูงานที่โรงเรียนบ้านนาขนวน  ก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาระดับหนึ่ง เรามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกสัปดาห์ในวันพฤหัสบดี หรือที่เรียกว่า  PCL (Professional Community Learning) การสะท้อนกลับของครูในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรม    จิตศึกษา  เห็นผลอย่างรวดเร็วได้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ  เช่น นักเรียนกล้าคิด  กล้าพูด  กล้าแสดงออก  และมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น  มีความรับผิดชอบและรู้หน้าที่ของตนเองเป็นส่วนมาก  แต่ในช่วงบ่ายของการเรียนรู้แบบบูรณาการ PBL ครูส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ ยังไม่ชัดเจน  ครูบางคนไม่ยอมที่จะลองสอนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน  พอสักเดือนกว่าๆ ทำให้ผมเองรู้สึกเริ่มท้อแท้  เหนื่อยใจ  เพราะมีความคาดหวังไว้สูงเกินไป  ว่าครูทุกคนต้องทำได้  และต้องทำทุกคน  เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงกับนักเรียน  ผมเริ่มคิดหนักมากขึ้น  หาวิธีการต่างๆ ด้วยเทคนิคต่างๆ มากมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูที่ยังไม่เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ และการเปลี่ยนแนววิธีการสอนของครู  เช่น นำวีดีโอ มาเปิดให้ดู ถ่ายเอกสารหนังสือที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ครูมาให้อ่าน  แล้วทำการ AAR (After Action Review)  กับครูในช่วง PLC  แต่ครูที่ยังไม่เปิดใจยอมรับก็เหมือนเดิม  ทำให้ผมเองเริ่มท้อ เหนื่อยใจมากขึ้น  เริ่มบ่นให้เพื่อนผู้บริหารเครือข่ายรับฟัง  เล่าให้ศึกษานิเทศก์ที่ปรึกษาโครงการฟัง  ก็ได้รับกำลังใจมาบ้าง แต่ก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้นมากนัก  “ท้อ เหนื่อย เริ่มหมดแรง  หมดกำลังใจที่จะเดินต่อ”   แต่ในใจยังคิดว่าต้องทำเพื่อเด็ก เพื่อพัฒนาครู  พัฒนาผู้เรียนเป็นเป้าหมายหลัก  ต้องไม่ท้อ ต้องเชื่อมั่นและมีศรัทธาว่าเราต้องทำได้ เพื่อเป้าหมายเดียวคือ “นักเรียน”  ถ้าเราไม่มีความเชื่อแล้วครูที่ทำอยู่ละต้องไม่มั่นใจแน่นอน  ผมเริ่มปรับวิธีคิดใหม่ เดินให้ช้าลง (เพราะส่วนใหญ่ครูตามไม่ทันความคิดของผม)  แล้วหันกลับมามองด้านหลัง ค่อยๆ ดึงครูขึ้นมา ค่อยๆ เรียนรู้ไปกับครู ครูก็เรียนรู้กับนักเรียน คุยกันในวง PLC โดยไม่เอาปัญหามาคุยก่อน เพื่อที่จะสานต่อเชื่อมโยงความคิดระหว่างเพื่อนร่วมงานให้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ นักเรียน  โดยไม่กังวลว่าต้องสำเร็จในเร็ววัน  แต่เชื่อและศรัทธาว่าต้องมีวันสำเร็จแน่นอนสักวันหนึ่ง  ถ้าเราเริ่มต้น กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้  ทำด้วยหัวใจ  เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ แล้วขยายไปทั้งโรงเรียน  โดยการสร้างแรงบันดาลใจให้ครู  เริ่มจากหนึ่ง สอง สาม .....
            วันที่ 10 ตุลาคม 2556 เป็นวันที่ปิด Quarter ที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนทำ  เพราะปิดQuarter ที่ ทำเฉพาะอนุบาล  ก่อนจัดกิจกรรมผมไม่มีเวลาอยู่ที่โรงเรียนเลยประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนวันที่ 10 ต้องไปประชุม อบรม ตลอดช่วงนั้น  ได้มอบหมายให้ครูคุยกันว่าจะจัดแบบไหน  ทำอย่างไรเองทั้งหมด  โดยผมจะโยนโจทย์กว้างๆ  ให้ และไปคิดต่อ ลงรายละเอียดเพิ่ม  โดยมอบหมายให้มีคนนำวงแต่ละครั้งได้พูดคุยกัน  เดิมนั้นถ้าจัดกิจกรรมอะไรที่โรงเรียน ผมจะเป็นคนกำหนดตุ๊กตา (รูปแบบ) คราวๆ และไปแลกเปลี่ยนกับครูช่วยกันเติมเต็ม  รูปแบบ และออกแบบกิจกรรมร่วมกัน  ช่วงเตรียมการ ผมจะกำกับ ดูแล และช่วยเหลือ สนับสนุนอยู่จนเรียบร้อยทุกกิจกรรม  กิจกรรมส่วนใหญ่จึงออกมาดีถึงดีมาก แต่ครูไม่ได้คิดสร้างสรรค์ส่วนใหญ่รับคำสั่งหรือมอบหมายให้ทำ ปีต่อไปจัดกิจกรรมแบบเดิมอีกก็มาช่วยกันคิดใหม่ เริ่มต้นใหม่  ผมอยากให้ครูคิดให้มากขึ้น  คิดเก่งขึ้น ถ้าเกิดจากความคิดของเขาเองงานที่ทำจะมีคุณค่าและงอกงามทางความคิดมากกว่ามอบหมายจากผม ผมจึงอยากพิสูจน์สิ่งที่คิดไว้  ผมได้โยนโจทย์นี้ให้ครูณัฐ ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการได้รับโจทย์จากผมเพื่อไปคุยกับเพื่อนครูต่อ 
            ก่อนวันงานผมได้มีโอกาสแวะมาดู  เห็นคุณครู นักเรียน และบางชั้นมีผู้ปกครองมาช่วยด้วย  ร่วมกันออกแบบ  ตกแต่ง เตรียมการอย่างดี  ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจ และร่วมแรงร่วมใจกัน  พอถึงวันงาน ผมมาถึงโรงเรียนแทบไม่น่าเชื่อ ว่าสิ่งที่ผมเห็นที่คุณครู  นักเรียน  ผู้ปกครองเตรียมการไว้เพื่อจัดกิจกรรมปิดควอเตอร์นี้จะทำได้ดี  โดยเฉพาะทุกคนช่วยกันอยากให้งานออกมาดี  มีกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  ผู้ปกครองนักเรียน และแขกจากต่างโรงเรียนมาร่วมชมนิทรรศการ การแสดง และร่วมชื่นชมยินดีในผลงานของเด็กๆ และครูที่ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น  เกิดเป็นความประทับใจที่ไม่รู้ลืม  ช่วงกิจกรรมอาจไม่ราบรื่นมากนักแต่ทุกคนก็ช่วยกัน ร่วมมือกัน  ผมเห็นแล้วศักยภาพของครู และศักยภาพของนักเรียน  ถ้าเปิดโอกาสให้ทุกคนมีพื้นที่ในการแสดง  ได้คิดริเริ่มเอง ลงมือปฏิบัติ ด้วยความเต็มใจ เต็มตามศักยภาพของตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ทุกงานทุกกิจกรรมก็ออกมาดี  ถึงจะไม่ดีมากเท่ากับที่ผมต้องวางแผน ควบคุม กำกับ เหมือนทุกครั้ง  แต่ครั้งนี้ผมรู้สึกภาคภูมิใจในตัวครูและตัวนักเรียน  ที่สามารถแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้  ผ่านการจัดกิจกรรมเพียงวันเดียว  ซึ่งผมมองเห็นภาพรวมของกิจกรรม และรายละเอียดต่างๆ ที่ครู นักเรียน ผู้ปกครองร่วมมือ ตั้งแต่วันนั้นผมมีความเชื่อว่าครูของผมจะพัฒนาตนเองใช้กระบวนการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนานักเรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง มีสุข อยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล 
            เปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 ครูมีความมั่นใจมากขึ้นในรูปแบบของการจัดกระบวนการเรียนรู้  ผมเชื่อในศักยภาพของครูผม แต่ผมได้คิดใคร่ครวญแล้วว่าครูที่โรงเรียนผมมีความสามารถต่างกัน ศักยภาพของแต่ละคนไม่เท่ากัน ในภาคเรียนนี้ผมจึงเริ่มต้นปรับกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณนาการใหม่ ซึ่งผมได้แบ่งครูออกเป็น 3 กลุ่ม  โดยนำนวัตกรรมมาใช้อยู่สามอย่างเพื่อให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของครูที่โรงเรียน  คือ กลุ่มแรกที่มีความเข้าใจช้าใช้  PBL (Project Based Learning) กลุ่มที่สองที่มีความเข้าใจระดับปานกลางใช้ PBL (Problem Based Learning)  และกลุ่มที่สามที่มีความเข้าใจเร็วใช้ RBL (Research Based Learning) ทุกสัปดาห์ในวันพฤหัสบดี จะตั้งวง PLC คุยกัน  โดยให้ครูเล่าเรื่องในสัปดาห์ที่ทำว่าทำอะไร  เกิดอะไรขึ้น มีชิ้นงานอะไรบ้าง ประทับสิ่งไหน จะให้เพื่อนช่วยอย่างไร และสัปดาห์ถัดไปจะทำอะไรบ้าง  ซึ่งให้ครูแต่ละคนเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง ทุกคนได้ฟังเรื่องดีๆ จากเพื่อนๆ เล่าเรื่องประทับใจเล็กๆ ในการจัดกิจกรรม แต่ผมรู้สึกได้ว่าเพื่อนทุกคนรับฟังด้วยความชื่นชม ยินดี และอยากจะเล่าเรื่องของตนที่ได้เรียนรู้กับนักเรียนให้เพื่อนๆ ฟังบ้าง เกิดแรงบันดาลใจขึ้น  เมื่อจบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผมเองยังรู้สึกว่าอยากจะฟังครูเล่าในสัปดาห์ถัดไปอีก  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดความรู้สึกอย่างนี้  ผมจึงให้ครูเขียนเรื่องเล่าของตนเองเดือนละหนึ่งเรื่อง ผมเองก็เขียนเหมือนกัน เพื่อให้คุณครูได้เกิดทักษะการสื่อสาร ทักษะการเขียนมากขึ้น  ผมได้อ่านเรื่องเล่าของคุณครูแล้วรู้สึกชื่นใจ  นั่งยิ้มกับกระดาษที่ถืออ่านอยู่ด้านหน้าตัวเอง  และบางแผ่นที่ครูเล่าเรื่องมายังมีคำถามเพิ่มขึ้นมาในใจอีกมากมาย  แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้รับรู้ผ่านเรื่องเล่าของคุณครู คือ ครูมีความภาคภูมิใจ ในสิ่งที่ครูได้ลงมือทำและได้เรียนรู้ร่วมกันกับนักเรียน แม้มันจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของความรู้สึกก็ตาม  โดยพูดออกมาจากสิ่งที่ได้จัดกระบวนการเรียนรู้ โดยการร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกสัปดาห์ในวันพฤหัสบดี (PLC : Professional Learning Community) บางคนพูดได้ดีมาก  สามารถถ่ายทอดประสบการณ์และสิ่งที่เล่าได้เป็นฉากๆ มองเห็นภาพ  ผมจึงได้รวบรวมเล่มที่ครูทุกคนเขียนเพื่อให้เพื่อนๆ ได้อ่านเรื่องเล่าของทุกคนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจอีกทางหนึ่ง  ผมเริ่มมีความหวังมากขึ้น มีความสุขที่ได้ทำ และยิ่งมีความเชื่อ ศรัทธาว่าภายในสามปีโรงเรียนของเราจะพัฒนาให้มีคุณภาพเป็น “โรงเรียนดีที่สร้างสุขภาวะ” ถ้าเราทุกคนในองค์กรมองเป้าหมายเดียวกัน ร่วมกันช่วยกันพัฒนาผู้เรียน พัฒนาครู พัฒนาโรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ให้มีคุณภาพตามสังคมต้องการ...
“เชื่อ ศรัทธา ลงมือทำ เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยน”